ป่าเบญจพรรณ
ป่าเบญจพรรณ หรือป่าผสมผลัดใบ พบกระจายอยู่ทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีบางส่วนที่ครอบคลุมภาคใต้ตอนบน มักพบในพื้นที่ซึ่งมีระดับความสูง ๕๐-๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลหรือสูงกว่านี้ในบางจุด ปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง ๑,๒๐๐-๑,๖๐๐ มิลลิเมตรต่อปี ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดสังคมพืชชนิดนี้ขึ้นในประเทศไทยคือฤดูกาล ป่าเบญจพรรณพบในพื้นที่ที่มีสามฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว มีช่วงที่ขาดฝนเกินกว่า ๔ เดือนเป็นอย่างต่ำ และปริมาณน้ำฝนค่อนข้างน้อย ความชื้นในดินขาดแคลนสำหรับการรักษาใบให้คงอยู่ในช่วงแห้งแล้ง ไฟป่าอาจเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้สังคมป่าชนิดนี้ดำรงอยู่ได้ ซึ่งปกติป่าชนิดนี้มีไฟป่าเป็นประจำ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ในสังคมมีการปรับตัวในหลายรูปแบบเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ภายใต้อิทธิพลของไฟป่า อย่างไรก็ตามไฟป่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกำจัดวัชพืช
และอินทรีย์วัตถุที่ตายแล้วบนผิวดินให้หมดไป และยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการงอกของเมล็ดไม้หลายชนิด โดยเฉพาะไม้สัก หรือเปิดผิวดินให้เมล็ดไม้ตกสัมผัสดินและได้รับความชื้นอย่างเต็มที่ ป่าเบญจพรรณเป็นป่าไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมานับแต่อดีต เพราะมีไม้มีค่าหลายชนิด เช่น สัก มะค่า แดง ประดู่ ชิงชัน รกฟ้า เสลา และซ้อ และมีไม้ไผ่ขึ้นปะปนอยู่ด้วยเสมอ เช่น ไผ่รวก ไผ่บง ไผ่ซาง และไผ่ไร่ ป่าเบญจพรรณในประเทศไทยแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ ป่าเบญจพรรณที่มีไม้สัก และป่าเบญจพรรณที่ไม่มีไม้สัก ป่าเบญจพรรณที่มีไม้สักหรือมักเรียกสั้น ๆ ว่า ป่าสัก มักพบเฉพาะทางภาคเหนือในพื้นที่สูงไม่เกิน ๗๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล อุทยานแห่งชาติที่เป็นแหล่งอนุรักษ์ป่าสักที่สำคัญ คือ อุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่และลำปาง ส่วนป่าเบญจพรรณที่ไม่มีไม้สักพบมากแถบภาคกลางด้านตะวันตก |