ป่าเต็งรัง
เป็นป่าที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีขึ้นไปจนถึงจังหวัดเชียงราย พบตามพื้นที่สูงตั้งแต่ ๕๐-๑,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งมีสภาพดินตื้นและเก็บกักน้ำได้ไม่ดี บางแห่งอาจมีทรายปะปนอยู่มาก มีหินบนผิวดินมากหรือเป็นดินลูกรังตื้น ๆ พันธุ์ไม้เด่นในป่านี้มีอยู่ ๕ ชนิด ได้แก่ เต็ง รัง เหียน พลวง และยางกราด ป่าเต็งรังเป็นป่าที่มีความสวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ใบไม้เปลี่ยนสีเลืองสีแดงก่อนจะทิ้งใบร่วงหล่นจนหมดต้น ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดป่าเต็งรังก็คือ ฤดูกาลที่แบ่งแยกค่อนข้างชัดเจนระหว่างฤดูฝนกับฤดูแล้ง ปกติมักมีช่วงแห้งแล้งเกินกว่า ๔ เดือนต่อปี ดินตื้น กักเก็บน้ำได้น้อยมาก ปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง ๙๐๐-๑,๒๐๐ มิลลิเมตรต่อปี และมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำ พื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคยมีป่าเต็งรัง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงป่าหย่อมเล็ก ๆ อยู่ตามอุทยานแห่งชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ และอุยานแห่งชาติภูผาเทิบ จังหวัดมุกดาหาร ส่วนภาคเหนือพบป่าเต็งรังปะปนกับป่าประเภทอื่น ๆ ป่าเต็งรังอาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามพันธุ์ไม้เด่นที่พบในพื้นที่ เช่น ป่าเต็ง ป่ารัง ป่าพลวง บางแห่งป่าเต็งรังผสม คือ มีไม้หลายชนิดปะปนอยู่พอ ๆ กันไม่มีไม้ไดเด่นเป็นพิเศษ บางแห่งเป็นป่าเต็งรังผสมไม้สนเขา ซึ่งมักพบตามเขาสูง เช่น อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว |