ทัวร์

ทัวร์

เลนส์ถ่ายใกล้ หรือ Macro Lens

 

การถ่ายภาพเพื่อให้ภาพที่ได้มีขนาดใหญ่นั้นวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ เอ๊ย..ม่ายช่าย ยิ่งใกล้ยิ่งใหญ่ครับ ยกตัวอย่างการถ่ายภาพนางแบบสาวที่อยู่ห่างเรา 1 กิโลเมตรย่อมได้ภาพนางแบบที่ตัวเล็กยังกะมด เมื่อเราเอาเลนส์เข้าไปใกล้ๆ นางแบบสักประมาณ 6 เมตรก็จะได้ภาพนางแบบเต็มตัวที่พอเหมาะกับขนาดของภาพ หากเราเลื่อนกล้องไปใกล้ประมาณ 2 เมตรก็จะได้ภาพครึ่งตัวที่มีขนาดใหญ่เต็มจอ แต่ถ้าเลือนเข้าไปใกล้สุดที่เลนส์จะเข้าไปใกล้ได้ซึ่งมีระยะประมาณ 50 ซม. ก็จะได้ภาพเฉพาะหน้านางแบบที่หูขาด แต่ถ้าเราต้องการถ่ายเฉพาะฟันของนางแบบสัก 1 ซี่ล่ะครับจะทำอย่างไร ( พอดีคนถ่ายเป็นทันตแพทย์ คงจะถ่ายเก็บฟันสวยไว้เป็นตัวอย่างให้ลูกค้าคนอื่นดู ) จะเลื่อนเลนส์เข้าไปใกล้กว่านี้ก็ไม่ได้แล้วเพราะว่าสุดระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์ธรรมดาแล้ว ถึงแม้เลนส์ทั่วๆ ไปจะถ่ายภาพใกล้ๆ ไม่ได้แต่ช่างภาพก็ยังต้องการที่จะถ่ายภาพใกล้ๆ เช่นภาพดอกไม้ แมลง ฟัน และวัตถุเล็กๆ ดังนั้นทางบริษัทผู้ผลิตเลนส์จึงได้ผลิตเลนส์ที่มีความสามารถที่จะเข้าไปถ่ายใกล้ๆ กว่าปกติได้ เลนส์นั้นเราเรียกว่า Marco Lens เลนส์มาโคร นี่เองคือความแตกต่างของเลนส์ธรรมดากับเลนส์มาโคร ส่วนระบบการทำงาน การวางชิ้นเลนส์อย่างไร เราคงไม่จำเป็นต้องไปรู้เพราะปวดหัวที่จะศึกษามัน ขอเพียงรู้ว่าตัวไหนดีไม่ดีอย่างไร อัตราขยายมากน้อยเพียงไร เท่านั้นเอง

โปรดดูตารางคุณสมบัติของเลนส์เพื่อการเปรียบเทียบกับเลนส์เทเล - ซูมธรรมดา - ซูมมาโคร - เลนส์มาโคร

เลนส์ มุมรับภาพ ระยะโฟกัสใกล้สุด ( ซม.) อัตราขยายในช่วงมาโคร น้ำหนัก ( กรัม )
SP 500mm.F/8 5 170 1 : 3 595
AF28-80mm.F/3.5-5.6 75-30 70 1 : 8 237
AF24-135mm.F/3.5-5.6 MARCO 84-18 40 1 : 3.3 530
AF90mm.F/2.8 MARCO 27 29 1 : 1 420

อัตราขยายในช่วงมาโคร เช่น 1:1 หรือ  1:2 หมายความว่า อัตราส่วนของวัตถุจริง : อัตราส่วนของภาพที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์ม

ยกตัวอย่างเช่น อัตราขยาย 1:1 ถ้าดอกไม้ขนาด 1 ซม. เมื่อเข้าไปถ่ายใกล้สุดจะได้ภาพบนฟิล์มขนาด 1 ซม. เท่ากับวัตถุจริง

อัตราขยาย 1:2 ถ้าดอกไม้ขนาด 1 ซม. เมื่อเข้าไปถ่ายใกล้สุดจะได้ภาพบนฟิล์มขนาด 0.5 ซม. เท่ากับครึ่งหนึ่งของวัตถุจริง ( เล็กลง )

ที่ยกตัวอย่างข้างบนเป็นอัตราส่วนขยายในช่วงมาโครหมายถึงอัตราขยายที่เกิดจากการเลื่อนเลนส์เข้าไปใกล้วัตถุ ไม่ใช่อัตราขยายจากอัตราขยายของเลนส์เทเลที่ขยายจากการรับภาพในมุมแคบๆ

อัตราขยายในช่วงมาโครที่กล่าวมาเป็นอัตราขยายระหว่างขนาดวัตถุจริงกับขนาดภาพที่ปรากฎบนแผ่นฟิล์ม   ส่วน

กำลังขยายของเลนส์มาโครที่ว่า กี่เท่านั้น เป็นอัตราขยายที่ตาเรามองเปรียบเทียวกับขนาดที่มองด้วยตาเปล่ากับการมองผ่านเลนส์  เช่น 50มม.เห็นภาพขนาดปกติ คือ มองด้วยตาเปล่าเห็นนางแบบหัวโตตัว 1 เมตร เมื่อมองผ่านเลนส์ก็ยังโต 1 เมตร ส่วนเลนส์เทเล 200 มม. ( 200 / 50 = 4 เท่า )จะขยายเป็น 4 เท่าคือ 4 เมตร นี่คือกำลังขยายจากกำลังขยายของเลนส์ที่เกิดจากการรับภาพในมุมแคบ ภาพที่ปรากฎบนแผ่นฟิล์มก็มีขนาดใหญ่กว่าการถ่ายด้วย Normal Lens ถึง 4 เท่า เลนส์เทล 500 มม ขยายเป็น 10 เท่าของเลนส์ 50 มม ภาพที่ปรากฎบนฟิล์มก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 10 เท่าของเลนส์มาตรฐาน โอ้โห ใหญ่จัง ใหญ่ตั้ง 10 เท่าก็น่าจะใหญ่กว่าการถ่ายด้วยเลนส์มาโคร แต่ลองขึ้นไปดูตารางเปรียบเทียบ เลนส์ 500มม. มีอัตราขยายสูงสุด 1:3 นั่นหมายความว่าถ่ายดอกไม้ขนาด 1 ซม. ภาพที่ได้บนแผ่นฟิล์มจะมีขนาดเพียง 0.33 ซม. ( 1/3=0.33 ) แต่เลนส์มาโครมีกำลังขยาย 1:1 ภาพที่ปรากฎบนแผ่นฟิล์มมีขนาดเท่าของจริงคือ 1 ซม.

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ลองกลับไปดูที่ตารางอีกครั้ง ดูที่ระยะใกล้สุดของเลนส์ เลนส์ 500มม.ถ่ายใกล้สุดที่ 170 ซม.  แต่เลนส์มาโคร 90มม ถ่ายใกล้ได้ถึง 29 ซม. ก็เหมือนกับการนั่งมวยที่ขอบเวทีย่อมเห็นภาพนักมวยตัวใหญ่กว่าการใช้กล้องส่องทางไกลขนาด 10 เท่าแต่ส่องดูจากยอดตึกสูง 87 ชั้น ยังไงยังงั้นเลยเชียวล่ะ เข้าใจซะทีซิคร๊าบบบ ถ้ายังไม่เข้าใจล่ะก็ไปเสียสะตังค์ 90 บาทไปซื้อหนังสือมาอ่านเถอะครับ อ่านได้ 7 วันหลุดออกเป็นแผ่นใครแผ่นมัน ติดกาวให้แน่นแค่นี้ติดไม่ได้ ไม่รู้เมื่อไรจะปิดโรงพิมพ์ไปเสียที เนอะ !

ข้อดีของเลนส์มาโคร ของใครดีไม่ดีอย่างไรเขาวัดกันที่  อัตราขยายของภาพ  ความคมชัด ความถูกต้องของสี และความสว่างของเลนส์

ทางยาวโฟกัสของเลนส์มาโครที่ผลิตออกมาขาย มี เลนส์มาโคร 50 มม, 55 มม, 90 มม, 100 มม, 105 มม.สูงกว่านั้นไม่แน่ใจว่ามีหรือเปล่า อัตราขยายในช่วงมาโครมีทั้ง 1:1 และ 1:2 ขึ้นอยู่กับ

ขนาดไหนที่เหมาะกับการใช้งาน แต่ละขนาดดีอย่างไร

ขนาด 50 มม. มีข้อดีที่ภาพที่มองผ่านเลนส์ไม่มีการขยายทำให้ภาพที่เห็นผ่านเลนส์ไม่สั่นไหวง่าย แต่ก็มีข้อเสียคือ การถ่ายต้องเข้าไปใกล้กว่าเลนส์ที่ทางยาวโฟกัสสูงกว่า เช่น 90 มม 105 มม เมื่อเข้าไปใกล้มากๆ ลองคิดดูถ้าเราจะถ่ายผีเสื้อแล้วเราต้องเลื่อนกล้องเข้าไปใกล้ๆ จะถ่ายได้อย่างไร ก็เพราะว่าผีเสื้อมันบินหนีไปซะก่อน คงต้องรอให้ผีเสื้อมันนอนหลับซะก่อนละมัง  แต่ก็มีข้อดีสำหรับการถ่ายวัตถุที่อยู่นิ่งๆ เช่น วัตถุโบราณ พระ เหรียญต่างๆ ดอกไม้ที่สั่นไหวได้แต่บินหนีไม่ได้

ขนาด 90 มม. มีข้อดีที่มีอัตราขยายจากเทเลเป็นทุนอยู่แล้ว ไม่ต้องเข้าไปใกล้มากๆ อย่างเลนส์ 50 มม. ทำให้ถ่ายสัตว์เล็กๆ ได้ง่ายกว่า ช่วงนี้ถือว่าเป็นกำลังขยายที่กำลังดี

ขนาด 100-105 มม. ( ใกล้กันถือเป็นพวกเดียวกันเลยละกัน ) มีข้อดีเหมือนข้อแรก แต่ก็มีข้อเสียนิดนึงที่ภาพสั่นไหวง่ายกว่าเพราะภาพมีอัตราการขยายจากกำลังเทเลมากกว่า แต่เขาก็ว่าช่วงนี้กำลังดีเพราะเป็นช่วงที่เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลมากที่สุด ที่ถ่ายคนครึ่งตัวแล้วหน้าไม่เบี้ยว  ก็ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อล่ะครับว่าต้องการซื้อเลนส์มาโครไปถ่ายดอกไม้ สัตว์เล็กๆ หรือจะเอาไปถ่ายคน

 เลนส์เทเล 105 mm.F2.8  ช่วงนี้เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคล

เลนส์105 mm.F2.8 Marco  เหมาะสำหรับการถ่ายภาพมาโคร

บางคนเถียงหัวชนฝาว่า เลนส์มาโครนี่ล่ะถ่ายภาพนางแบบที่สวยที่สุด ดีกว่าเลนส์เทเล 105 ซะอีก อันนี้เห็นด้วย ก็เจ้าของผู้ยอมควักกระเป๋าตังค์จ่ายค่าเลนส์มาโครที่มีราคาแพงแสนแพงถ้าถ่ายมาแล้วตัวเองว่าไม่สวยคงเสียใจแย่ แต่ถ้าถ่ายมาแล้วใครเห็นว่าไม่สวย แต่เราเจ้าของเงินเห็นว่าสวยก็โอเคแล้ว ถือว่าคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป เหมือนฝรั่งหล่อๆ ที่มองสาวไทยตัวดำๆ ว่าสวยกว่าสาวขาวๆ ที่คนไทยคิดว่าสวย คำว่าสวยไม่สามารถวัดค่าได้เหมือนกับเครื่องวัดแสง อยู่ที่ความพอใจ ที่สำคัญที่สุดคืออยู่ที่ความพอใจของเจ้าของเงิน

อธิบายมายืดยาว คนอ่านก็ตาลาย คนพิมพ์ก็ตาลายแถมเมื่อยมืออีกต่างหาก หากผิดพลาดประการใดหวังว่าคงไม่ว่ากัน เพราะข้าน้อยรู้เพียงปูๆ ปลาๆ ครับ