ถ้าใครเคยได้มีโอกาสขึ้นดอยหลวงเชียงดาวสักครั้ง
คงต้องมีความรู้สึก
อยากจะกลับไปอีกครั้ง
และอีกครั้ง
เหมือนกับผมที่หลงใหล
และ ประทับใจ
ในความงดงาม
น่ามหัศจรรย์
ของดินแดนแห่งนี้
ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน
แม้ว่าทุกครั้งที่ลงมาจากยอดดอย
มักจะบอกกับตัวเองว่า
ไม่มาอีกแล้ว
เหนื่อยชิบหาย (ฮา)
แต่ผ่านไปไม่เท่าไหร่
ก็พาตัวเองขึ้นมายืนอยู่บนยอดสูงสุด
ของดอยหลวงอีกครั้งจนได้
ทิวทัศน์อันตระการตาบนยอดดอยที่สูงเป็นอันดับสาม
ของเมืองไทย
รองจากดอยอินทนนท์และผ้าห่มปก
งดงามเพียงใด
คงยากที่จะถ่ายทอดเป็นคำพูด
แม้จะแสดงให้เห็นเป็นภาพถ่าย
ก็คงไม่ประทับใจเท่ากับการได้สัมผัสด้วยตัวเอง
จะกี่ครั้ง จะกี่หน
ภาพของดอยสามพี่น้อง
ดอยพิรามิด
ยามอาทิตย์อัศดง
ก็ยังงดงามอยู่เหมือนเดิม
แต่การกลับไปดอยหลวงครั้งนี้
สิ่งที่ตั้งใจมากต่างกับครั้งก่อนๆคือ
การดูนก
ซึ่งบรรดานักดูนกทั้งหลายแทบจะนับคนได้เลย
ที่เคยขึ้นไปดูนกบนยอดดอยแห่งนี้
หลายคนบอกว่าไปดูนกดอยเชียงดาวมาแล้ว
แต่พอถามเข้าจริงๆเกือบทั้งหมด
ไปถึงแค่หน่วยพิทักษ์ป่า
เด่นหญ้าขัด
แล้วเดินไปตามทางสายสั้นๆแค่เชิงดอยสามพี่น้องเท่านั้น
ระยะทางประมาณ 2-3
กิโลเมตร และสุดยอดปราถนาคือ
การได้เห็น
ไก่ฟ้าหางลายขวาง
ซึ่งว่ากันว่าเป็นไก่ฟ้าที่สวยที่สุดในเมืองไทย
สถานภาพหายากมาก
แต่ที่เด่นหญ้าขัดเจอตัวบ่อย
และถือเป็นนกเด่นของที่นี่ก็ว่าได้
อีกสามวันจะสิ้นปี
ผมกลับมาที่อำเภอเชียงดาวอีกครั้ง
ภาพของดอยหลวงเชียงดาวสูงตระหง่าน
อย่างน่าเกรงขาม
เมื่อมองจากตัวอำเภอ
หากเป็นช่วงเวลาอื่นเราจะเห็นเมฆปกคลุมบนยอดดอยเกือบตลอดทั้งวัน
แต่ในเวลาเช่นนี้
กลับมองเห็นยอดดอยอย่างชัดเจน
หลังจากขออนุญาตเข้าไปในพื้นที่
จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ดอยหลวงเชียงดาวแล้ว
เราที่มากันแค่สองคน
ก็เริ่มมองหาลูกหาบที่จะเป็นคนแบกน้ำกับสัมภาระอีกเพียบ
ในที่สุดก็ได้มาสองคนจากร้านพี่แกละแปดริ้ว
ที่ถ้ำเชียงดาวนั่นเอง
โปรแกรมที่วางเอาไว้จะค้างกันสองคืน
อาหารหลักคือปลากระป๋อง
มาม่า และ มาม่า
เพราะกินเป็นอย่างเดียว
ฮา ( คิดถึงตอนไป ฮาลา-บาลา
แม่ครัวเพียบ
อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ทุกมื้อ
รู้งี้น่าจะชวนมาด้วย
)
จุดเริ่มต้นการเดินทางอยู่ที่บ้านแม่นะ
ห่างจากอำเภอแค่ 5
กิโลเมตร
เส้นทางเป็นลูกรังที่มีแต่หลุมกับบ่อ
แต่มีอยู่สามช่วง
ที่เป็นถนนคอนกรีตอย่างดี
ช่วงละ 100-200 เมตร (ไม่รู้จะทำไปทำไมให้เจ็บใจ)
ผ่านบ้านปางฮ่าง และ
บ้านปางโฮ่ง
ถนนก็เริ่มออกฤทธิ์
มีหลุมเป็นร่องลึกให้ลองของกันตลอด
สงสัยฝีมือพวกแม้วในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา
ระยะทางแค่ 14
กิโลเมตร
แต่เราใช้เวลาไปเกือบสองชั่วโมงทีเดียว
จนมาถึงสามแยกซึ่งเป็นด่านตรวจของเขตฯ
ตรงไปจะไปได้ถึงดอยแม่ตะมาน
แต่เราเลี้ยวขวา
คราวนี้ทางโหดกว่าเดิม
ประมาณ 5 กิโลเมตร
วิ่งกันตั้งแต่ห้าโมงเย็น
กว่าจะถึงก็เกือบมืดพอดี
ลูกหาบของเรายังเอ่ยปากว่า
เจ้าของถนนบางทียังต้องลงมาเข็นเลย
โห
แล้วหน้าฝนจะไปเหลืออะไรล่ะ
ที่หน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัด
หนึ่งทุ่มตรง
อากาศหนาวแบบสุดยอด
อุณภูมิวัดได้แค่ 7
องศาเท่านั้น
ผมใส่เสื้อยืด
ทับด้วยเสื้อวอร์ม
ตามด้วยเสื้อกันหนาวอย่างหนา
แล้วเข้าไปนอนในถุงนอน(อย่างหนาอีกแล้ว)
ยังรู้สึกได้ถึงความเย็นยะเยือก
แล้วตอนดึกๆจะเป็นยังไง
ไม่อยากจะคิดเล้ย
ส่วนลูกหาบของเราจองกองไฟกองใหญ่
นอนแบบเอาหน้าแนบฟืนเลย
(ตอนเช้าอาจได้กินคนย่าง
ฮา)
ฟ้าสางแล้ว
ผมตื่นแต่เช้า
หนาวน่ะหนาวแน่
เพราะวัดได้ 1
องศาพอดี (บนยอดดอยติดลบแหง๋ๆ)
สิ่งที่ปลุกให้ตื่นก็คือเสียง
เจี้ยวจ้าวของนกนั่นเอง
โถ
จะไม่ได้ยินได้ยังไง
เพราะต้นซากุระ
หรือพญาเสือโคร่งออกดอกเต็มต้นอยู่หน้าเต้นท์พอดี
แสงแดดยังไม่ทันส่องถึง
พวกนกกินปลี
นกแซงแซว
ทั้งหลายก็มาจับจองพื้นที่กันแล้ว
กาแฟแบบ 3 in
1
ที่ต้มด้วยน้ำร้อนเดือดๆเย็นเฉียบในเวลาแค่ไม่ถึงสามนาที
ต้องเอามาต้มใหม่แล้วรีบกินเลย
พอฟ้าเริ่มสาง
กิจกรรมถ่ายภาพนกก็เริ่มขึ้น
เรื่องกล้องส่องทางไกลลืมไปได้เลย
มองตาเปล่าก็เห็นชัดแล้ว
นกตัวแรกที่เจอคือ
กินปลีหางยาวคอสีฟ้า
เจ้าเก่า
เจอต้นซากุระที่ไหน
เป็นต้องได้เห็นเจ้าตัวนี้ทุกที
แต่คราวนี้มีตัวผู้ตั้ง
4 ตัว
และตัวเมียแค่ตัวเดียว
สีสันของนกตัวผู้สวยมาก
สวยแค่ไหนดูรูปเอาก็แล้วกันครับ
หมดฟิล์มไปหลายม้วน
เพราะมุมไหนก็สวยไปหมด
สักพักเจ้านกเกเร
ปลีกล้วยลาย
ก็บินมาไล่ที่
เจอเจ้าหางยาวคอสีฟ้าที่ไหน
เป็นต้องไล่
เพราะอยากจะกินน้ำหวานจากดอกซากุระตัวเดียว
ผมจึงเปลียนมาถ่ายภาพเจ้าปลีกล้วยลาย
ถ่ายภาพทุกมุมเลย
เพราะมันอยู่นานมาก
บางที่เข้ามาใกล้ห่างแค่
3 เมตรเท่านั้น
ต้องเปลี่ยนไปใช้ 300
มม.ถึงจะโฟกัสได้
แล้วกรรมก็ตามสนอง (ฮา)
เพราะ
นกแซงแซวหงอนขน
บินมาไล่ที่บ้าง
เจ้าปลีกล้วยลายที่ตัวเล็กกว่าก็ต้องจากไปโดยดี
นกอื่นๆอีกหลายชนิดอย่าง
แว่นตาขาวข้างแดง
ยกฝูงจะมากินน้ำหวานบ้าง
แต่เรียกได้ว่าเกาะปุ๊บ
โดนไล่ปั๊บ ทันที
เมื่อกินน้ำหวานจนพอใจ
เจ้าแซงแซวตัวแสบยังยังคงหวงก้าง
เกาะเฝ้านิ่งๆ
คอยไล่นกที่บินผ่านไปมา
หลังอาหารเช้า(เกือบสิบโมงแล้วเพราะมัวแต่ถ่ายภาพนก)
พวกเราก็เริ่มออกเดินทางทันที
ขนาดมีลูกหาบ
ผมยังแบกจนหลังแอ่น
เพราะขนกล้องไปเพียบ
ทั้งกล้องใช้ฟิล์มและไม่ใช้ฟิล์ม
แถมด้วยขาตั้งกล้องตัวใหญ่ๆอีกหนึ่งตัว
หนหน้าจะเอาคอมแพคไปตัวเดียว
แล้วเดินตัวเปล่าให้สะใจ(
คำพูดนี้ต้องพูดทุกครั้งที่ขึ้นดอยเชียงดาว
)
ทางช่วงแรกเดินกันสบายๆ
ผ่านป่าเบญจพรรณที่นับดูแล้ว
ยังไงต้องมีไม้ใหญ่เกินห้าชนิดแน่นอน
เดินกันไปตามสันเขา
อากาศเย็นสบายมาก
สักสองกิโลก็เข้าสู่ป่าสน(ไม่สนสองใบก็สามใบล่ะ)
จนมาถึงเนินเขาที่เชื่อมต่อระหว่างเขาฝั่งเด่นหญ้าขัดกับฝั่งดอยสามพี่น้อง
ตรงนี้มองเห็นดอยสามพี่น้องได้ชัดเจนและสวยมาก
เมื่อก่อนทางเขตฯเคยอนุญาตให้พักแรมที่ป่าสนนี้ได้
แต่ปัจจุบันไก่ฟ้าหางลายขวางมักออกมาหากินแถวนี้
จึงต้องห้ามค้างแรมเพราะสัตว์ป่านั้นสำคัญกว่า
พอพ้นป่าสนก็เริ่มบทโหดแบบเล็กๆกันเลย
ทางขึ้นชันแถมหญ้ารกอีกต่างหาก
ลากสังขารมาจนถึงเนินเขา
ที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า
กิ่ว (ชื่อกิ่วอะไรจำไม่ได้แล้ว)
แล้วเดินทางราบต่อไปอีกหน่อยก็ถึงจุดกางเต้นท์ที่เรียกกันว่า
บ้านสามหลัง (ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ)
เพราะเมื่อก่อนที่นี่เคยมีบ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอดำตั้งอยู่สามหลัง
ตรงนี้มีทางแยกไปบ้านนาเลาได้
เมื่อสิบกว่าปีก่อนถ้าจะมาขึ้นดอยเชียงดาวก็ต้องใช้เส้นทางนี้เหล่ะ
นกที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นนกทั่วๆไปที่เจออยู่บ่อยๆ
เช่น
ปรอดเหลืองหัวจุก
แซงแซวหางปลา
ปรอดหัวโขน ปรอดดำ
แซงแซวสีเทา
ทางช่วงนี้จะเลียบเชิงดอยสามพี่น้องไปตลอด
เมื่อก่อนไร่ฝิ่นทั้งนั้น
เป็นพันๆไร่เลย
เดี๋ยวนี้มีแต่ทุ่งหญ้าเต็มไปหมด
ทางเริ่มไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ
เดินไปไม่ถึง 100 เมตร
ก็ต้องหยุดพัก
ดอยหนอกที่อยู่ทางซ้ายมองเห็นอย่างชัดเจน
ตัวกับท้องฟ้าสีเข้ม
ตอนพักถือโอกาสถ่ายภาพไปเลย
และเลนส์ 14 มม.ของ TAMRON
ก็เก็บมุมภาพได้กว้างอย่างสะใจจริงๆ
ผ่านไปห้ากิโลเมตร(วัดจาก
GPS)
ก็มาถึง ดงน้อย
เป็นป่าที่ร่มรื่นแห่งแรกหลังจากเดินผ่านทุ่งหญ้ามาหลายชั่วโมง
ตรงจุดนี้มีต้นซากุระเยอะมาก
นกก็เพียบทั้งๆที่เป็นเวลาเที่ยง
และที่มากที่สุดคือ
นกปรอดเทาหัวขาว
ที่มีหัวสีขาวสะอาด
ปากสีแดงแจ๊ด
ต้นซากุระหนึ่งต้นจะมีอยู่ประมาณ
4-5 ตัว
รวมๆกันแล้วน่าจะมีประมาณ
40-50 ตัวเป็นอย่างน้อย
หมดฟิล์มไปอีกหลายม้วน
และหมดเวลาอีกเป็นชั่วโมง
จนชักไม่แน่ใจแล้วว่าจะไปทันดูอาทิตย์ตกบนยอดดอยหลวงหรือไม่
แต่เจ้านกสีสวยอีกหลายชนิด
อย่าง
เขียวก้านตองท้องสีส้ม
กินปลีหางยาวคอดำ
หัวขวานใหญ่หงอนเหลือง
และพญาไฟแม่สะเรียง
ทำให้ผมอดถ่ายภาพไม่ได้
จนกลายเป็นคนรั้งท้ายสุด
กว่าจะยอมออกเดินต่อก็เกือบบ่ายสองแล้ว
นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆก็เดินผ่านไปจนหมด
เส้นทางจากนี้ไปจะเป็น
ของจริง
เสียทีหลังจากอุ่นเครื่องมาตั้งแต่เช้า
ทางชันมากชนิดต้องหยุดเดินทุกๆ
40-50 เมตร
ถ้าชันมากก็ต้องว่ากันเป็นก้าวเลย
ยี่สิบก้าวพักที
หรือสามสิบก้าวพัก
อะไรทำนองนั้น
กว่าจะมาถึงกิ่วที่สองก็ท้องกิ่วพอดี
เพราะข้าวเที่ยงยังไม่ได้ตกลงกระเพาะสักเม็ดเดียว
แถมน้ำหมดอีกต่างหาก
คนอื่นๆที่ล่วงหน้ามาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
รอจนหลับไปงีบใหญ่แล้ว
และเราก็ตกลงกันว่า
คืนนี้จะตั้งแค้มป์นอนกันที่ป่า
ดงเย็น
เพราะยังไงก็ไม่ทันอยู่แล้ว
และที่นั่นคือจุดที่ผมตั้งความหวังเอาไว้ว่า
ต้องเจอนกทีเด็ด
เพราะที่นั่นมีระดับความสูงประมาณ
2000
เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
และสภาพป่าไม่แตกต่างกับป่าดึกดำบรรพ์บนยอดดอยอินทนนท์เลย
ระหว่างทาง
ดอยพิรามิดที่มียอดเป็นรูปสามเหลี่ยมเหมือนพิรามิดสมชื่อ
มองเห็นชัดขึ้นทุกที
มองเห็นอยู่ลิบๆ
ส่วนดอยสามพี่น้องทางด้านหลังก็เริ่มมองเห็นยอดทั้งสามทีละน้อย
กระทั่งถึงเชิงดอยพิรามิดนั่นเหล่ะ
ภาพของดอยสามพี่น้องก็ชัดเจนขึ้น
ยอดสามยอดที่อยู่ติดๆกัน
เป็นที่มาของดอยสามพี่น้อง
เดินถึงตรงนี้ทีไร
นึกอยากจะปีนยอดสามพี่น้องทุกที
แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยทำได้สักที
เพราะปัญหาเรื่องเวลา
เส้นทางที่สูงชัน
และน้ำทีจำกัด
ต้องมีเวลาสัก 4-5
วันถึงจะพอ
ไว้คราวหน้าก็แล้วกัน(อีกแล้ว)
และที่ตรงนี้เองที่
เหยี่ยวภูเขา
เคยบินร่อนอวดโฉมให้เห็นบ่อยๆ
แต่คราวนี้กลับไม่มีวี่แววเลยสักนิด
กว่าจะลากสังขารมาถึงกิ่วสุดท้ายหรือกิ่วที่สามก็แทบแย่
กลุ่มสุดท้ายสามคนที่เดินผ่านผมไปก็หมดสภาพกันตรงนี้เหล่ะ
พักกันหายเหนื่อยก็ต้องรีบเกินกันต่อ
เพราะใกล้ค่ำเต็มทีแล้ว
ทางช่วงสุดท้ายก่อนเข้าป่าดงดิบมีแต่โขดหินเต็มไปหมด
ต้องปีนต้องป่ายจนแทบหมดแรง
บางช่วงยังลื่นอีกต่างหาก
จนล้มหงายหลังไปสองทีติดๆกัน
(ขนาดระวังมากแล้วนะเนี่ย)
เมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้าไปอากาศที่หนาวแบบสุดขั้วก็มาเยือนอีกครั้ง
น่าเสียดายที่ลืมเทอร์โมฯไว้ที่รถ
ไม่งั้นจะได้รู้ว่าอุณหภมิเท่าไหร่กันแน่
แต่ที่แน่ๆคือหนาวแบบสุดๆชนิดนั่งห่างกองไฟไม่ได้เลย
เกือบสองทุ่มสองคนที่ล่วงหน้ามาก่อน
และปีนขึ้นยอดสูงสุดเพื่อดูพระอาทิตย์ตกดิน(แต่ไม่ทัน
ฮา)
ก็กลับมาในสภาพที่ไม่ต้องบรรยาย
อาหารมื้อค่ำที่มีแค่
ข้าวสวย มาม่า
และปลากระป๋อง
ในค่ำคืนนี้ดูจะมีรสชาดอร่อยอย่างไม่เคยลิ้มรสมาก่อน
แม้ว่าจะอยู่กลางป่าดงดิบ
แต่จุดที่เราตั้งแค้มป์นั้นมองเห็นท้องฟ้าได้พอสมควร
ดาวนับหมื่นดวงกระจายอยู่เต็มท้องฟ้า
สวยงามมาก
น่าเสียดายไม่มีใครรู้เรื่องดวงดาวอย่างลึกซึ้ง
ไม่งั้นคงมีเรื่องสนุกๆให้ฟังรอบกองไฟแน่ๆ(เจ้าหนูจูล่งอยู่ไหน)
และที่ดอยเชียงดาวแห่งนี้
บรรดานักดาราศาสตร์ก็แวะเวียนมาดูดาวกันเป็นประจำ
โดยเฉพาะบนยอดสูงสุดนั้น
สามารถดูดาวได้แบบ 360
องศา
ชนิดไม่มีอะไรบังเลย
แต่เขาปีนขึ้นไปดูตอนเที่ยงคืนนะครับ(พี่แกละแปดริ้วบอกมาอย่างนั้น)
ค่ำคืนนี้ป่าเงียบมาก
เงียบอย่างไม่น่าไว้วางใจ
ไม่มีเสียงจั๊กจั่น
หรือเสียงอื่นๆเลย
ถ้าอากาศไม่หนาวมาก
ป่านนี้ผมคงถือไฟฉายไปส่องดูนกกลางคืนแล้ว(คราวหน้าจะชวนคุณ
east wing มาด้วย
จะได้เป็นลีดเดอร์พาดูนกกลางคืนอีก)
เสียงนกปลุกให้ผมตื่นขึ้นในเช้าวันใหม่ตั้งแต่ฟ้าเพิ่งจะเริ่มสาง
หนาวแค่ไหนคงไม่ต้องพูดถึง
ตัวผมเหลือแต่ลูกตาสองข้างเท่านั้นที่ได้สัมผัสกับอากาศ
พอหากล้องส่องทางไกลเจอก็ออกจากเต้นท์มาสูดอากาศยามเช้าทันที
ไม่ต้องไปไหนไกลหรอกครับ
หน้าเต้นท์นี่เหล่ะ
แหล่งดูนกอย่างดีเลย
เพราะมุมข้างหน้าเปิดโล่งพอสมควร
นกตัวแรกที่มาทักทายแต่เช้าคือ
นกจับแมลงคอแดง
ตัวที่เจอเป็นนกตัวผู้
สังเกตุได้จากสีแดงที่คางไล่ไปถึงคอ
สีค่อนข้างจะจางเพราะใกล้จะหมดฤดูผสมพันธุ์แล้ว
สักพักก็ได้ยินเสียง
แกร๊ก แกร๊ก
ดังลั่นอยู่บนเรือนยอดของไม้ใหญ่
ส่องกล้องไปดูก็ได้เจอเพื่อนเก่าที่พบได้ง่ายบนดอยอินทนนท์
นกปีกลายตาขาว
นั่นเอง
สีส่วนใหญ่ออกไปทางสีน้ำตาล
ปีกเป็นลายๆเห็นได้ชัด
แต่ที่สะดุดตามากกว่า
คือ วงรอบตาสีขาว
ไม่ค่อยบิน
แต่จะกระโดดหาแมลงไปตามกิ่งไม้
เจอทั้งฝูงประมาณ 5-6
ตัว ใกล้ๆกันมีนก
หางรำดำ
ที่เป็นญาติสนิทกับเจ้าปีกลายตาขาว
และเจอตัววบ่อยที่ยอดสูงสุดของดอยอินทนนท์
(ป่าเหมือนๆกัน
นกก็คงจะคล้ายกัน
ทำนองนั้น)
หลังอาหารเช้าที่ผมขอแค่กาแฟถ้วยเดียว
แล้วออกมายืนเฝ้านกหน้าเต้นท์ต่อ
ไม่ผิดหวังครับ
คราวนี้ได้เจอ
นกหางรำหลังแดง
ทีแรกยังไม่เห็นหลังนึกว่าเจ้าหางรำดำเสียอีก
อีกตัวทีคุ้นมากเพราะเคยถ่ายภาพได้ใกล้ๆตรงด่านตรวจที่สองแยกแม่แจ่ม
บนดอยอินทนนท์
นั่นคือ
นกมุ่นรกตาแดง
หากใครไม่เคยเจออาจจะปวดหัวว่าเป็นนกตัวไหน
เพราะสีสันส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำตาล
แต่ที่สังเกตุได้ง่ายคือ
ส่วนหัวสีเทาและมีวงรอบตาสีขาว
ส่วนตาสีแดงนั้นต้องส่องดูแบบใกล้ชิดจึงจะสังเกตุเห็น
ถ้าได้เห็นสักครั้ง
ต่อไปคงจะจำได้โดยไม่ยาก
นั่งๆนอนๆดูนกอยู่จนเกือบเก้าโมง
อาหารเช้าจริงๆก็เริ่มขึ้น
โดยใช้เมนูเดิมๆ
เราตกลงกันว่าจะอยู่ต่ออีกคืนเพื่อที่จะได้ขึ้นไปชมอาทิตย์อัศดงบนยอดดอยหลวง
และผมมีข้อเสนอที่ดีกว่านั้นอีกคือ
ขึ้นไปตั้งแค้มป์บนยอดสูงสุดซะเลย
ตอนเช้าจะได้ไม่ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า
เพราะอากาศที่หนาวสุดยอดกับปีนดอยนั้นโหดและเหนื่อยมาก
ถ้านอนบนนั้นได้ล่ะก็
ตื่นขึ้นมาก็ตั้งกล้องถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหน้าเต้นท์ได้เลย
แถมช่วงนี้ยังเป็นข้างขึ้น
ยังถ่ายภาพด้วยแสงจันทร์ได้ด้วย
(แต่ก็พระจันทร์จะขึ้นก็เกือบเที่ยงคืนโน่น)
ลูกหาบของเราทั้งสองมองหน้ากันแล้วหัวเราะ
เอาไงเอากัน
มีลูกหาบดีก็อย่างนี้เหล่ะ
๕๕๕ (สงสัยต้องจ่ายค่าทิปเพิ่มแน่ๆงานนี้)
ว่าแล้วก็ตัดเอาฟืนท่อนใหญ่ที่หามาได้แบกขึ้นไปก่อนล่วงหน้า
เพราะบนนั้นหมดสิทธิ์หาฟืนมาก่อกองไฟแน่ๆ
ระหว่างรอ
ผมตั้งกล้องเล็งไปยังกิ่งไม้แห้งที่อยู่สูงลิบ
ฟ้าสีครามเข้มสวยมาก
ต้องมีนกบินมาเกาะมั่งซิน่า
แล้วถือถ้วยกาแฟไปนั่งเฝ้าให้นกบินมาเกาะ
แหงนหน้าดูจนเมื่อยไปหมด
กำลังจะเก็บกล้องก็มีนกมาเกาะให้เห็นจริงๆ
เอ...เจ้าปรอดหัวโขนขึ้นมาถึงนี่เลยเหรอ
แต่พอเอากล้องส่องทางไกลมาเล็งดู
โอ้โห นกใหม่ นกใหม่
ไม่เคยเห็นเลย
ที่แรกนึกว่าเจ้าหัวโขนเพราะเห็นหัวมีจุกดำๆ
ขนาดรูปร่าง การเกาะ
คล้ายๆกัน
แต่มุมย้อนแสงทำให้ไม่เห็นสีสัน
แต่ดูผ่านกล้องส่องทางไกลแล้วชัดเจนมาก
ท้องสีเหลืองหม่นๆ
ข้างแก้มสีม่วงจางๆ
หน้าสีดำ
ที่เด่นมากคือปากหนาสีเหลือง
เป็นนกปรอดชนิดเดียวที่มีปากสีเหลืองที่เจอในเมืองไทย
น่าเสียดายที่ถ่ายภาพได้แค่
5 ภาพมันก็บินจากไป
เก็บของเสร็จเพิ่งจะเที่ยง
เดินไม่ถึงชั่วโมงก็ขึ้นถึงยอดดอยหลวงแล้ว
ผมเลยวางโปรแกรมให้คนอื่นๆขึ้นยอดดอยไปก่อน
แล้วแยกตัวไปนั่งเฝ้านกที่ป่าดงดิบเชิงดอยหลวง
รอไปรอมาหลับไปแบบไม่รู้ตัว
(โถ อากาศเย็นสบาย
น่านอนจะตายไป)
ตื่นมาอีกทีได้ยินเสียงนกร้องอยู่ใกล้ๆห่างไปไม่ถึงสองเมตร
ว้าว!
นกใหม่อีกแล้ว
นกเขนน้อยข้างสีส้ม
เป็นนกตัวผู้
สีสันสวยมาก หัว
ปีกและหางสีน้ำเงินเข้ม
ไม่ใช่สีจางแบบในหนังสือ
Bird Guide
คางและคอสีขาว
ด้านข้างลำตัวมีแถบสีส้มสมชื่อ
เกาะอยู่บนพื้นดินจ้องมองแบบตาต่อตาเลย
พอขยับตัวมันก็บินห่างออกไปเกาะที่ก่งไม้แห้งๆ
แต่ก็อยู่ในระยะที่ถ่ายภาพได้สบายมาก
กล้องพร้อมอยู่ตรงหน้าแล้ว
ถ่ายไปหนึ่งภาพเจ้านกก็กระโดดย้ายกิ่ง
สักพักก็บินจากไป
ผมนั่งเฝ้าต่อ
และก็ได้ผลไม่ถึงสิบนาทีมันก็บินกลับมาเต๊ะท่าให้ถ่ายภาพอีก
ทั้งหน้าตรง
ด้านข้าง ด้านหลัง
ทำยังกับเป็นดาราแน่ะ
ฮา
จนเกือบบ่ายสามผมก็เก็บกล้องเพื่อปีนไปชมอาทิตย์ตกบนยอดดอยหลวง
และก็สมใจนึก
แสงสีของธรรมชาติกับองค์ประกอบที่ลงตัวของดอยสามพี่น้อง
กับดอยพิรามิดนั้น
จะผ่านไปกี่เดือน
กี่ปี
ก็ยังคงงดงามอย่างน่ามหัศจรรย์ |